7 Places about the Holocaust You Must Visit

หลังจากที่เดินพ้นประตูของค่ายกักกัน Auschwitz ออกมา เราก็เกิดความรู้สึกอยากรวบรวมสถานที่ที่รำลึกถึงเหตุการณ์ Holocaust เท่าที่เราได้ไปสัมผัสมาเก็บไว้อีกโพสต์นึง…ไม่น่าเชื่อว่าคนที่ชอบง่วงเวลาต้องท่องต้องจำวิชาประวัติศาสตร์อย่างเรา จะมาสนใจและถึงกับเสียเงินเดินทางเพื่อให้ได้ไปเห็นกับตาขนาดนี้ เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอะมากในช่วง 4 ปีที่เริ่มเดินทางคนเดียว ยิ่งเดินทางก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้นเรื่อยๆ อ่านทุกอย่างที่จะสามารถอ่านได้เป็นวันๆ บางที่เคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่เคยรู้ที่มา และที่สำคัญคือวิธีคิด อะไรนำพาให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ แต่ที่ประหลาดใจตัวเองที่สุดคือ ไม่เคยคิดเลยว่า ณ เวลานี้ จะต้องมาเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ให้คนอ่าน… เรามาไกลมากจริงๆ

สถานที่ทั้งหมดต่อไปนี้คงไม่สามารถเล่าทุกอย่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่สถานที่เหล่านี้เปรียบเสมือนตัวแทนของอดีตจากแต่ละฉากของเหตุการณ์ แต่ละช่วงเวลา และแต่ละมุมมองของผู้เล่าเรื่อง ดังนั้น สิ่งที่อยากให้เตรียมมากที่สุดคือ การเปิดใจให้กว้างที่สุด ก่อนเดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้ค่ะ : )

Berlin

ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ กรุงเบอร์ลิน ในฐานะเมืองหลวงของประเทศเยอรมนีมาหลายศตวรรษ เบอร์ลินจึงเป็นจุดศูนย์รวมของเหตุการณ์สำคัญมากมาย โดยเฉพาะเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของ Adolf Hitler ในปี ค.ศ. 1933 พรรคนาซีก็ได้เริ่มนโยบายสลายชุมชนชาวยิวในเบอร์ลิน จนเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิว Kristallnacht (Crystal Night) ในปี ค.ศ.1938 หลังจากนั้นชาวยิวก็ได้ถูกเนรเทศไปยังค่ายกักกัน Sachsenhausen เมือง Oranienburg และขยายไปยัง Ghetto และค่ายกักกันอื่นๆ อีกในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ดำเนินไปจนถึงช่วงปี ค.ศ. 1943-1945 เป็นช่วงที่เบอร์ลินถูกโจมตีทางอากาศ พื้นที่ 3 ใน 4 ของเมืองถูกทำลาย มีผู้เสียชีวิตราว 125,000 คน ถือเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เบอร์ลินก็ได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพัธมิตรผู้ชนะสงคราม และแบ่งเป็น 4 เขตสำหรับ 4 ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต

1. Jewish Museum Berlin

ในปี ค.ศ. 1933 Jewish Museum ที่แรกของเบอร์ลินได้ถูกสร้างขึ้นก่อนแล้ว เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์และผลงานศิลปะของชาวยิว และแน่นอนว่าเมื่อถึงยุคสงคราม ในปี ค.ศ. 1938 ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ Kristallnacht มิวเซียมนี้จึงถูกสั่งปิดอย่างไม่ต้องสงสัยจาก Gestapo หลังจากเหตุการณ์ทุกอย่างผ่านไป จึงได้มีการกลับมาสร้าง Jewish Museum อีกครั้งบนพื้นที่ใหม่และมีการขยับขยายและเปิดให้เข้าชมในปี ค.ศ. 2001 ประกอบด้วยอาคารสองแบบที่แตกต่างกันสุดๆ อาคารแรกเป็นอาคารศาลยุติธรรมเก่าหน้าตาสไตล์บาโรค ใช้เป็นทางเข้าหลักของมิวเซียม ส่วนอาคารที่สร้างใหม่ถ้ามองจากด้านบนจะเป็นอาคารที่มีลักษณะเหมือนสายฟ้า เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด แต่ทั้งสองอาคารนี้ไม่สามารถเดินถึงกันบนพื้นดินได้ ต้องเดินผ่านทางเชื่อมใต้ดินเท่านั้น

ความน่าสนใจของมิวเซียมนี้คือการตีความสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกมาเป็นงานออกแบบมิวเซียมหลังใหม่นี้ โดยสถาปนิกชาว Polish-American ชื่อ Daniel Libeskind ได้ออกแบบมิวเซียมนี้จากแนวความคิด 3 ส่วน อย่างแรกคือ หากต้องการจะเข้าใจประวัติศาสตร์ของเบอร์ลิน ก็ควรต้องเข้าใจบทบาทที่สำคัญของพลเมืองชาวยิวด้วย ถัดมาคือการที่จะผสานความหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้อยู่ในการรับรู้และความทรงจำของเบอร์ลินทั้งในเชิงรูปธรรมและเชิงจิตวิญญาณ ส่วนสุดท้ายคือการยอมรับว่าการทำลายล้างชีวิตของชาวยิวนั้นเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของชาติเยอรมนี เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับอนาคต มิวเซียมแห่งนี้จึงไม่ได้นำเสนอเฉพาะข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังถ่ายทอดความรู้สึกของชาวยิวในช่วงเวลาที่ยากลำบากไว้ได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

2. Memorial to the Murdered Jews of Europe

เป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงชาวยิวที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของกำแพงเบอร์ลิน การสร้างอนุสรณ์แห่งนี้ได้มีการวางแผนมาตั้งแต่ช่วงปลายของทศวรรษ 1980 แล้ว จนเมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลง พื้นที่นี้จึงได้ถูกเลือกให้สร้างเป็นอนุสรณ์ในปี ค.ศ. 1999 และได้เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 2003

Memorial to the Murdered Jews of Europe มี 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ อนุสรณ์เพื่อระลึกถึงเหยื่อชาวยิวที่ถูกฆ่าราว 6 ล้านคน ถูกออกแบบเป็นแท่งคอนกรีตขนาดกว้าง 0.95 เมตร ยาว 2.38 เมตร จำนวน 2,711 แท่ง ด้วยความสูงที่ต่างกัน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 19,000 ตารางเมตร วางตัวบนเนินเป็นแนวตาราง มองจากด้านนอกจะเหมือนกับคลื่นของแท่งคอนกรีต นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมได้จากทุกทิศทาง ตลอด 24 ชั่วโมง และส่วนที่สองอยู่ชั้นใต้ดิน เป็น Informatiom Center ซึ่งจะจัดแสดงนิทรรศการและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์

Munich

3. Dachau Concentration Camp

ค่ายกักกันดาเคาเป็นค่ายกักกันค่ายแรกที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1933 หลังจากที่ Adolf Hitler ขึ้นดำรงตำแหน่งได้เพียง 51 วัน ตั้งอยู่ที่เมืองดาเคา เพื่อคุมขังนักโทษทางการเมือง และขยายไปสู่ผู้ที่ถูกบังคับใช้แรงงาน, นักโทษชาวยิว, นักโทษอาชญากรรมชาวเยอรมันและออสเตรีย และชาวต่างชาติจากประเทศที่เยอรมันเข้าไปยึดครอง ค่ายกักกันนี้ถือเป็นค่ายต้นแบบในการสร้างค่ายกักกันอื่นๆ ในเวลาถัดมา จนถึงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1945 กองทัพอเมริกาได้ปลดปล่อยผู้ที่รอดชีวิตให้เป็นอิสระ รวมระยะเวลาทั้งหมด 12 ปี เป็นค่ายกักกันที่ดำเนินการนานที่สุดในบรรดาค่ายกักกันทั้งหมด มีผู้ถูกคุมขังทั้งหมดกว่า 200,000 คนจากทั่วยุโรป และเสียชีวิต 41,500 คน

ปัจจุบันค่ายนี้ได้ถูกปรับให้เป็นอนุสรณ์สถานและจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่าย พื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้เป็นที่คุมขังนักโทษจำนวน 32 โรง แต่ได้ถูกทำลายไปแล้ว ส่วนที่ยังคงไว้อย่างค่อนข้างสมบูณณ์คือตัวอาคารด้านหน้าที่เป็นห้องทำงานของตำรวจ SS และห้องเผาศพ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ภายในค่ายได้มีการสร้างอนุสรณ์ทางศาสนาให้กับผู้เสียชีวิตในศาสนาต่างๆ อีกด้วย

Cologne

4. NS Documentation Centre of the City of Cologne (NS-DOK)

คืออนุสรณ์สถานที่เป็นอาคาร 4 ชั้น มีชื่อว่า EL-DE Haus (เอล เด เฮาส์) ซึ่งตั้งชื่อตามเจ้าของ Leopold Dahmen ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจขายทองและนาฬิกา และต้องการสร้างอาคารนี้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและหน้าร้านขายเครื่องประดับด้วย แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1935 การสร้างดำเนินไปอย่างล่าช้าเลยกำหนด แต่กลับเป็นที่สนใจของตำรวจลับ Gestapo เพราะตั้งอยู่ใจกลางเมือง สัญญาเช่าจึงได้สิ้นสุดลงและได้กลายเป็นของนาซีแทน เพื่อใช้เป็นที่บัญชาการ และดัดแปลงชั้นใต้ดินเป็นคุกเพื่อใช้ขังนักโทษและห้องทรมานต่างๆ

ปัจจุบัน EL-DE Haus ได้ทำเป็นศูนย์ให้ความรู้และวิจัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุคนาซี จัดแสดงเป็นนิทรรศการทั้งแบบถาวรและชั่วคราว นอกจากเอกสาร ภาพถ่าย และข้อมูลต่างๆ แล้ว ภายในจะเห็นร่องรอยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาคารแห่งนี้ในอดีตได้อย่างชัดเจน

Warsaw

5. Museum of History of Polish Jews

หากว่าจะทำความรู้จักชาวยิว POLIN Museum คือที่ๆ จะสามารถให้ข้อมูลได้ดีที่สุด ด้วยเหตุที่ว่าในอดีตนั้นโปแลนด์เคยเป็นประเทศที่มีชาวยิวอพยพย้ายถิ่นมาตั้งรกรากและอาศัยอยู่มากที่สุดโดยเฉพาะในย่านการค้าขาย แต่ต้องเจอกับความทุกข์ทรมานและการสูญเสียเมื่อเยอรมันได้เข้ามายึดครองและค่อยๆ เริ่มแผนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในปี ค.ศ. 1940 ด้วยการควบคุมให้ชาวยิวมาอยู่รวมกันใน Warsaw Ghetto ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีอาณาเขตประมาณ 3.4 ตารางกิโลเมตร แต่มีจำนวนชาวยิวใช้ชีวิตอยู่ในนั้นมากกว่า 400,000 คน ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ถูกจำกัดอาหารและยารักษาโรค ทำให้มีผู้เสียชีวิตในนี้จำนวนมาก ราว 100,000 คน จากการขาดอาหารและโรคระบาดก่อนที่จะมีการส่งชาวยิวไปยังค่าย Treblinka เพื่อให้ทำลายชาวยิวได้จำนวนมากขึ้นในปี ค.ศ. 1942 แต่ถึงอย่างนั้น การใช้ชีวิตของชาวยิวก็ยังดำเนินไปอย่างลับๆ ด้วยองค์กรใต้ดิน มีสถานพยาบาล โรงเรียน ศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้า ครัวซุปสาธารณะ และวงออร์เคสตร้า เป็นต้น จนในปี ค.ศ. 1943 จึงได้เกิดเหตุการณ์การลุกฮือของชาวยิวใน Warsaw Ghetto เพื่อต่อต้านการกวาดต้อนไปยังค่ายมรณะ แต่ก็ไม่สำเร็จ กองทัพนาซีจึงตัดสินใจเผาทำลายและระเบิดอาคารใน Ghetto ทั้งหมด รวมถึงการทำลาย Great Synagogue of Warsaw ซึ่งเป็นโบสถ์ของชาวยิว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าการต่อสู้บนพื้นที่แห่งนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ยังมีโศกนาฏกรรมอีกหลายครั้งที่เกิดขึ้นกับชาวยิวในโปแลนด์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น จึงได้มีการสร้างอนุสรณ์ไว้หลายแห่ง รวมถึง POLIN Museum นี้ด้วย ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่เคยเป็น Ghetto ในอดีต มิวเซียมนี้จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ร่วมพันปีของชาวยิวในโปแลนด์ตั้งแต่การอพยพมาตั้งรกรากครั้งแรกจนถึงช่วงเวลาปัจจุบันในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องการดำรงชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ศาสนาและความเชื่อ เป็นต้น มาที่นี่ที่เดียว ได้ครบทุกเรื่องราวของชาวยิวแน่นอนค่ะ

6. Villa Zabinski

คนที่เคยได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Zookeeper’s Wife น่าจะร้องอ๋อในทันที เพราะที่นี่คือบ้านที่ตั้งอยู่ใน Warsaw Zoo เป็นสถานที่ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวได้ถูกกวาดต้อนไปยังค่ายกักกันต่างๆ แต่สองสามีภรรยา Jan และ Antonina Zabinski เจ้าของสวนสัตว์แห่งนี้ ได้ให้ความช่วยเหลือชาวยิวและใช้ห้องใต้ดินภายในบ้านของตัวเอง (ซึ่งอยู่ในเขตสวนสัตว์) เป็นที่หลบซ่อนให้กับชาวยิวเป็นเวลาหลายปีโดยที่ไม่มีใครจับได้ ทำให้มีผู้รอดชีวิตจากการช่วยเหลือครั้งนี้รวมกว่า 300 คน อยากให้ลองชมภาพยนตร์ก่อน เพราะเรื่องราวอย่างละเอียดและกินใจได้ถูกเล่าไว้ในนั้นหมดแล้ว และเมื่อไปถึงบ้านหลังนี้จริงๆ จะรู้สึกอินมากขึ้นค่ะ

Oświęcim

7. Auschwitz Concentration Camp

เป็นค่ายกักกันที่เรียกว่าเป็น Concentration Camp Complex ตั้งอยู่ที่เมือง Oswiecim ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใจกลางของประเทศที่อยู่ใต้อำนาจของเยอรมนีทั้งหมดในขณะนั้น มีทั้งหมด 3 ค่ายหลัก ได้แก่

  • Auschwitz I เป็นศูนย์บัญชาการหลัก และเป็นที่แรกที่มีการสร้างห้องรมแก๊สและห้องเผาศพ
  • Auschwitz II-Birkenau เป็นค่ายที่ใหญ่ที่สุด ใช้เป็นค่ายสำหรับกักกันและ extermination
  • Auschwitz III-Monowitz ใช้เป็นค่ายแรงงานทาสให้กับโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ IG Farben

นอกจากนี้ก็จะมี sub camp อีกมากมายรอบๆ ทั้งสามค่ายหลักอีกราว 40 ค่าย แบ่งเป็น external camp, sub camp และ labor camp

การปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีเยอรมนีนั้นมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยในช่วงแรกๆ จะเป็นการหลอกล่อเหยื่อไปสังหารโดยหน่วยทหารย่อยๆ เหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มปัญญาชน ต่อมาเมื่อต้องการทำลายล้างให้ได้จำนวนมากขึ้นและเร็วขึ้น จึงมีการสร้างค่ายกักกันขึ้นมา คัดแยกนักโทษเป็นประเภทต่างๆ เพื่อส่งไปใช้แรงงานเป็นหลัก ส่วนผู้ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ก็จะถูกพาไปห้องรมแก๊สทันที เมื่อเหยื่อเสียชีวิตก็จะต้องมีการทำลายศพ ซึ่งในช่วงแรกใช้การฝัง ต่อมาเป็นการเผากับกองฟืน จนสุดท้ายเปลี่ยนมาใช้เตาเผาแทน เถ้ากระดูกที่เหลือจากการเผาก็จะถูกนำไปทิ้งลงแม่น้ำ Vistula จากรายงานในปี ค.ศ. 1943 ห้องเผาศพทั้ง 5 ห้องจากค่าย Auschwitz I และ II สามารถเผาศพได้ 4,756 ศพ ภายใน 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันค่าย Auschwitz I และ II ได้ถูกจัดให้เป็นแหล่งมรดกโลกโดย UNESCO ทุกอย่างภายในค่ายยังถูกเก็บรักษาไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวและกลุ่มนักศึกษาเข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก ควรเช็คและทำการจองรอบการเข้าชมไว้ล่วงหน้า เพราะบางวันก็ไม่มีรอบบรรยายเป็นภาษาอังกฤษค่ะ


ทุกสถานที่ที่ได้รวบรวมมานี้ เราไม่ได้ทำเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความหวาดกลัว สนับสนุนความรุนแรงหรือเพิ่มความเกลียดชังให้กับชาติเยอรมัน หากแต่ทำเพื่อให้เกิดความเข้าใจในที่มาและผลของการกระทำของแต่ละฝ่าย เพื่อทำให้ความตั้งใจของการอนุรักษ์และการสร้างสถานที่เหล่านี้ขึ้นนั้นเป็นประโยชน์ที่สุด นั่นคือ การไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต

ส่วนในฐานะคนที่ห่างไกล ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือผูกพันใดๆ กับเหตุการณ์นี้ อย่างน้อย สิ่งที่เราทำได้คือการเคารพความรู้สึกของชนชาติที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไม่มีอคติจากอดีต เพราะทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันนะคะ : )


คำศัพท์เฉพาะในบทความนี้ที่ควรรู้

  • Genocide การกระทำอย่างเป็นระบบและไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มชนในชาติ หรือกลุ่มชนทางศาสนาทั้งกลุ่มหรือส่วนใหญ่ (ที่มา) เป็นคำศัพท์ที่หมายถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทุกประเภทที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้
  • The Holocaust หรืออีกคำเรียกหนึ่งคือ The Shoah ในภาษาฮิบรู หมายถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างเป็นระบบโดยนาซีเยอรมนี
  • Nazi หรือ นาซี เป็นคำเรียกสั้นๆ ของชื่อพรรค Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei (อ่านว่า นาซีโยนาลโซซิอัลลิสทิชเช่อะ ด๊อยทเช่อะ อาร์ไบเทอะพาร์ไท) ใช้ตัวย่อตามชื่อในภาษาเยอรมันว่า NSDAP
  • SS ย่อมาจาก Schutzstaffel (อ่านว่า ชุทซ์ชตัฟเฟิล) ในภาษาเยอรมัน คือองค์กรกองกำลังกึ่งทหารที่ทำงานภายใต้คำสั่งของ Adolf Hitler และพรรคนาซี แบ่งเป็นหลายส่วนเพื่อดูแลงานด้านต่างๆ เช่น การบังคับใช้นโยบายของพรรคนาซี การควบคุมการดำเนินการของค่ายกักกัน และกองกำลังติดอาวุธ เป็นต้น
  • Gestapo ย่อมาจาก Geheime Staatspolizei (อ่านว่า เกไฮม์เมอะ ชตัทซโพลิไซ) ในภาษาเยอรมัน คือตำรวจลับอย่างเป็นทางการของพรรคนาซี มีหน้าที่คอยกวาดล้างผู้ที่เป็นศัตรูทางการเมืองกับพรรคนาซี
  • Kristallnacht หรือ Crystal Night เป็นชื่อเรียกเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวในปี ค.ศ.1938 มีที่มาจากเศษกระจกจากหน้าต่างร้านค้าของชาวยิวที่ถูกทุบจนแตกเกลื่อนไปตามถนน

Instagram @sologirloutthere | Facebook @sologirloutthere