2018S_BWKV: เยือนค่ายยิว Auschwitz และชมเหมืองเกลือสุดอลังการที่คราคูฟ

Published by

on

Day 6: Amazing Salt Mine

วันนี้เริ่มเดินทางแต่เช้าออกจากวอร์ซอไปยังเมือง Krakow (แม้พยางค์สุดท้ายจะสะกดด้วย w แต่ให้ออกเสียงเป็น ฟ ดังนั้นชื่อเมืองนี้จึงอ่านว่า คราคูฟ ค่ะ คอนเฟิร์มจากคนท้องถิ่น) ด้วยรถไฟ และเราจะมาสอนอ่านตั๋วกันก่อนค่ะ เหตุผลที่ต้องอธิบายเรื่องตั๋วเพราะเกือบทั้งหมดบนตั๋วเป็นภาษาท้องถิ่นที่ก็ยากเกินจะเดา

จากภาพเป็นตั๋วรถไฟที่จองออนไลน์จากสองประเทศ ทางซ้ายเยอรมัน ทางขวาโปแลนด์ ปัญหาที่เราเจอวันเดินทาง (Warsaw – Krakow) คือ เราไม่รู้ว่าอันไหนคือหมายเลขตู้ของเรา ก็เลยกระโดดขึ้นรถไฟไปก่อน ซึ่งรถไฟที่นี่ก็ให้นึกถึงรถไฟแบบในแฮร์รี่ พอตเตอร์ คือด้านนึงของตัวรถจะเป็นทางเดินแคบๆ แค่คนเดินเบี่ยงตัวสวนกันได้ และอีกด้านแบ่งเป็นห้องๆ มีประตูเลื่อนปิด สามารถนั่งได้แถวละ 3 คน หันหน้าเข้าหากัน ด้านบนเหนือที่นั่งเป็นที่วางสัมภาระ นั่นหมายความว่าถ้าคุณมีกระเป๋าใบใหญ่และไม่รู้หมายเลขตู้ คุณก็ต้องรอจนกว่ารถไฟเริ่มออกตัว และผู้โดยสารส่วนใหญ่เข้าไปนั่งประจำที่กันหมดแล้ว คุณถึงจะเดินไปยังที่นั่งของคุณได้นั่นเอง ส่วนกระเป๋าใบโตของเรา โชคดีที่ห้องที่เรานั่งมีผู้ชายอยู่คนนึง เห็นผู้หญิงเอเชียตัวกระเปี๊ยกอย่างเราก็ประเมินแล้วว่าไม่น่าจะมีแรงยกขึ้นไปวางบนนั้นได้แน่นอน เค้าเลยอาสาช่วยยกให้ เลยรอดไป ซึ่งไม่เหมือนกับรถไฟที่เราเจอมาส่วนใหญ่แล้วจะมีที่วางกระเป๋าขนาดใหญ่ไว้ที่หัวและท้ายตู้ แล้วผู้โดยสารก็เดินตัวปลิวๆ ไปนั่งที่ของตัวเองได้

สามชั่วโมงผ่านไปเราก็เดินทางถึงสถานี Krakow Glowny เมืองคราคูฟ การเดินทางที่เมืองนี้ Google Maps จะไม่สามารถให้ข้อมูลเรื่องระบบขนส่งสาธารณะได้เลย เราเอะใจตั้งแต่ตอนทำแผนเที่ยวแล้วว่ามันหาข้อมูลระยะเวลาการเดินทางหรือเที่ยวรถอะไรไม่ได้เลย หลังจากจัดการธุระส่วนตัวเสร็จเลยถามพนักงานที่โรงแรม เลยได้คำตอบว่าต้องใช้แอพ/ เว็บนี้จ้ะ Jakdojade สำหรับที่หมายแรกที่จะไปวันนี้นั่นคือ เหมืองเกลือ Wieliczka (Wieliczka Salt Mine) ก็ให้เลือกปลายทาง Wieliczka Kopalnia Soli ค่ะ

เหมืองเกลือแห่งนี้ไม่ใช่เหมืองเกลือธรรมดา แต่เป็นเหมืองเกลือที่ได้รับการรับรองว่าเป็นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO กินพื้นที่ประมาณ 9.7 ตารางกิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดินราว 327 กิโลเมตร คือใหญ่มากกกกกกกก เหมือนเป็นเมืองใต้ดินอีกเมืองนึงเลย เพราะข้างในมี Chapel คอกเลี้ยงสัตว์ ทะเลสาบ ร้านอาหาร ฯลฯ แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมารอเข้าชมเยอะ แต่ภายในมีการจัดการที่ดีมากกกกก ทั้งไกด์ ทางเดินภายใน และยังมีโชว์แสง สี เสียง ตามจุดต่างๆ ที่ทำให้ตลอดกว่า 3 ชั่วโมงภายในเหมืองไม่น่าเบื่อเลย ควรค่าแก่การมาเยือนมากๆ ค่ะ : )

โถงนี้คือ Hi-light ของเหมืองนี้เลย ที่ผนังทั้ง 2 ด้านจะมีการแกะสลักเป็นภาพที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ โคมไฟ Chandelier ทั้งหมดทำจากผลึกเกลือ ซึ่งสวยมากกกก

Day 7: Auschwitz

และในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง วันนี้เราออกเดินทางไปยังเมืองออสวีซิม (Oświęcim) ใกล้ๆ กับคราคูฟ เป็นที่ตั้งของค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาค่ายทั้งหมดของนาซี นั่นก็คือ ค่าย Auscwitz ซึ่งจริงๆ แล้วมีทั้งหมด 3 ค่ายหลัก ได้แก่ Auschwitz I, Auschwitz II-Birkenau และ Auschwitz III-Monowitz นอกจากนี้ก็จะมี sub camp อีกมากมายโดยที่มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่ Auschwitz I ส่วน Auschwitz II-Birkenau นั้นถือเป็นค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่ปัจจุบันเหลือเพียงซากให้เห็นประมาณนึง เพราะถูกเผาเพื่อทำลายหลักฐาน ซึ่งค่ายที่จะไปวันนี้คือค่ายลำดับที่ 1 ค่ะ

การวางแผนจะเดินทางไปที่ค่ายนี้ควรจองรอบที่จะเข้าชมก่อน เพราะแต่ละรอบจะแตกต่างไปตามภาษาที่ใช้บรรยาย ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาโปแลนด์ เยอรมัน รัสเซีย และอิตาลี ส่วนภาษาอังกฤษค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นควรเช็คอันนี้ก่อนอันดับแรก จากนั้นก็จองรถบัส (ขาไปขากลับ จองแยกกัน) ใช้เวลาเดินทางจากคราคูฟประมาณ 2 ชั่วโมง และถ้าเป็นไปได้ควรกลับไม่เกิน 4 โมงเย็น เพราะบ่ายสามทุกอย่างเริ่มปิดแล้ว ไม่มีที่ให้นั่งคอยหรือเดินเล่นใดๆ ปิดคือปิดจริงๆ

เนื้อหาบางส่วนจะขอนำมาเล่าโดยสรุปจากหนังสือเล่มนี้นะคะ เพราะบางจุดไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพค่ะ

แผนที่ค่าย

ขอเล่าย้อนความไปถึงเหตุผลของการเลือกสถานที่ที่จะตั้งค่าย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี ค.ศ. 1941 จากแผนที่ เยอรมนีมีประเทศบริวาร (สีดำ) และประเทศที่เข้าไปยึดครอง (สีเทา) กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของยุโรป เมือง Oswiecim (หรือ Auschwitz ในภาษาเยอรมัน) จึงกลายเป็นเมืองที่อยู่ใจกลางของประเทศที่อยู่ใต้อำนาจของเยอรมนี

เมื่อผ่านการตรวจสัมภาระเรียบร้อย ไกด์ก็จะนำเราเข้าสู่ตัวค่าย ที่ทางเข้าค่ายจะมีป้าย motto ที่นาซีใช้ชวนเชื่อชาวยิวให้เดินทางมาที่ค่ายนี้ “Arbeit macht frei” เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า การทำงานนำมาซึ่งอิสระภาพ แต่เมื่อผ่านประตูนี้เข้าไปแล้ว อิสระภาพที่มองเห็นเพียงอย่างเดียวคือความตาย

ในช่วงก่อนสงครามนั้น พื้นที่นี้เป็นค่ายทหารโปแลนด์มาก่อน ประกอบด้วยอาคาร 20 หลัง แต่เมื่อเยอรมนีเข้ามาทำให้กลายเป็นค่ายกักกัน จึงได้สร้างอาคารเพิ่มอีก 8 หลัง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่อยู่ของนักโทษ และถูกใช้ในจุดประสงค์ต่างกัน เป็นที่บัญชาการ ห้องพิจารณาโทษ เรือนนอน ห้องรมแก๊ส ฯลฯ ซึ่งยังคงเก็บทุกอย่างไว้อย่างดี จากที่ไปค่ายอื่นๆ มา ค่ายนี้คือ full function ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่สุด เริ่มตั้งแต่คนที่ถูกจัดว่าไม่มีประโยชน์ที่สุดได้แก่ ผู้หญิง เด็ก คนชรา คนพิการ หญิงตั้งครรภ์ ก็จะถูกพาไป “อาบน้ำ” ขั้นตอนนี้พูดง่ายๆ ก็คือการเอาทรัพย์สินที่ติดตัวมาทั้งหมดออกและส่งเข้าไปห้องรมแก๊ส แล้วจึงนำไปเผาในเตาเผาศพ ส่วนการเสียชีวิตรูปแบบอื่นจะเกิดกับผู้ที่ผ่านเข้าไปอยู่ในค่ายเช่น การอดอาหาร การถูกบังคับใช้แรงงานหนัก การทดลองทางการแพทย์ การติดเชื้อหรือเจ็บป่วย การทรมานหรือลงโทษด้วยการแขวนคอ การยิงเป้า ทั้งหมดเกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้

แผนที่ Auschwitz I

สรุปจุดสำคัญภายในค่าย Auschwitz I

  • a อาคารสำหรับรับนักโทษใหม่
  • d ทางเข้าที่มีป้าย Arbeit macht frei
  • f Camp Orchestra จะมีวงออเคสตร้าเล่นเพลงมาร์ชเพื่อฝึกให้นักโทษเดินเข้าแถวตามจังหวะทั้งขาออกจากค่ายเพื่อไปทำงานและกลับเข้าค่าย
  • g Block 4 จัดแสดงขั้นตอนการทำให้เหยื่อเสียชีวิต
  • h Block 5 จัดแสดงข้าวของของเหยื่อที่ถูกยึดไว้ตั้งแต่ที่มาถึงค่าย ช่วงที่ถูกสั่งให้ไปอาบน้ำ และก่อนที่จะเข้าห้องรมแก๊ส
  • j Block 7 จัดแสดงห้องนอนและห้องน้ำของนักโทษ
  • k Block 10 ห้องทดลองทางการแพทย์
  • l ลานยิงเป้า
  • m Block 11 ใช้เป็นคุกเพื่อคุมขังนักโทษที่พยายามหลบหนี
  • n Block 20 ใช้เป็นห้องสำหรับการฉีด Phenol เข้ากล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อให้เสียชีวิตภายในไม่กี่วินาที วิธีนี้จะใช้กับเด็กชาวโปแลนด์ที่มาจาก Zamosc และหญิงชาวยิวที่ตั้งครรภ์
  • o ที่แขวนคอสำหรับนักโทษที่พยายามหลบหนี ซึ่งในภายหลังมีการปรับโครงสร้างให้สามารถใช้แขวนคอได้ครั้งละ 12 คน
  • w ห้องรมแก๊สและเตาเผาศพ 1
บล็อก
ลานยิงเป้า
แผนที่ Auschwitz II-Birkenau

ส่วนของค่ายหมายเลข 2 นั้นเราไม่ได้ไป แต่ถ้าใครสนใจ เค้ามีบริการ Shuttle bus รับส่งระหว่างทั้ง 2 ค่ายด้วยค่ะ

สรุปจุดสำคัญภายในค่าย Auschwitz II-Birkenau

  • u ทางเข้าค่ายซึ่งเป็นรางรถไฟเข้าไปสู่บริเวณค่าย
  • e BIIg อาคารเก็บทรัพย์สินที่ยึดมาได้จากนักโทษ มีชื่อเรียกว่า Kanada
  • k ห้องรมแก๊สและเตาเผาศพ 2 และ 3
  • f ห้องรมแก๊สและเตาเผาศพ 4 และ 5
  • กลุ่มอาคารที่เหลือทั้งหมดเป็นที่อยู่ของนักโทษ แบ่งโซนตามประเภทของนักโทษ เช่น women’s camp, family camp, transit camp หรือ quarantine camp เป็นต้น

หลังจากเดินชมทุกอย่างครบแล้ว ก็ให้คำตอบกับตัวเองได้เลยว่า พอละ ไม่รู้เพราะความหดหู่จากการที่เสพเรื่องสงครามติดๆ กันหลายวันด้วยรึป่าว แต่ในความรู้สึกคือสิ่งที่ตามหา สิ่งที่อยากรู้อยากเห็น มันเติมเต็มหมดแล้ว ก็เลยปักหมุดสิ้นสุดการตามเก็บเรื่อง holocaust ไว้ที่ค่ายแห่งนี้ และจะรวมเรื่องสถานที่เที่ยวที่เกี่ยวกับ holocaust ไว้ให้อ่านกันในบล็อกถัดไปนะคะ : )

จากออสวีซิม เราเดินทางกลับมาที่สถานี Krakow Glowny อีกครั้งเพื่อจะรอเดินทางต่อไปยังเมืองเวียนนาโดย overnight bus ที่นี่มีทั้งห้องฝากกระเป๋าให้บริการเวลา 7.00-22.00 น. ค่าฝาก 3-6 PLN ตามขนาดกระเป๋า และล็อกเกอร์ฝากได้ตลอด 24 ชม. ค่าฝาก 8-12 PLN/วัน นอกจากนี้ก็มีร้านค้าร้านอาหารให้นั่งรอได้ประมาณนึงค่ะ

ขอลาโปแลนด์ไว้ที่บรรทัดนี้ แล้วไป Vienna กันต่อค่ะ


2 responses to “2018S_BWKV: เยือนค่ายยิว Auschwitz และชมเหมืองเกลือสุดอลังการที่คราคูฟ”

  1. 2018S_BWKV | Warsaw Avatar

    […] Krakow […]

    Like

  2. 7 Places about the Holocaust You Must Visit – Solo Girl Out There Avatar

    […] 2018S_BWKV | Krakow […]

    Like

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Website Built with WordPress.com.