2018S_BWKV: ตามรอยประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรุงเบอร์ลิน

Published by

on

ความตั้งใจของทริปนี้คือ อยากไปเก็บตกสถานที่ที่เกี่ยวกับ Holocaust ที่อยากไปให้หมด ทำให้การเตรียมตัวออกทริปครั้งนี้นอกจากเรื่องการเดินทางแล้ว ก็ต้องอ่านประวัติศาสตร์เพิ่มเติมด้วย ไม่งั้นก็จะไปแบบปะติดปะต่ออะไรไม่ได้เลย และหลังจากกลับมาแล้วก็ต้องมาหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าสิ่งที่เราไปพบเจอมามันเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นไหนของภาพทั้งหมด และจะได้นำมาเล่าต่อได้อย่างถูกต้อง หากข้อมูลส่วนไหนผิดพลาดไปสามารถทักท้วงได้นะคะ ยินดีรับฟังและแก้ไขค่ะ ว่าแล้วก็เริ่มเดินทางกันเลย!

** ลิงก์ของสถานที่ / การจองต่างๆ สามารถคลิกที่ข้อความได้เลยนะคะ **

ก่อนจะออกเดินทางก็ต้องไปขอวีซ่าเชงเก้นกันก่อน จากแพลนจะเห็นว่าเราจะเที่ยวในโปแลนด์นานที่สุด ดังนั้นจึงต้องไปขอวีซ่ากับประเทศโปแลนด์ ขั้นตอนก็เหมือนกับการขอวีซ่ากับประเทศเชงเก้นอื่นๆ คือ กรอกแบบฟอร์มออนไลน์ จองคิว และเตรียมเอกสารให้พร้อมเพื่อยื่นในวันนัด สิ่งที่อยากบอกต่อคือเราประทับใจในความแน่นอนและตรงเวลาของการพิจารณาคำร้องขอวีซ่า แม้ว่าจะเปิดรับยื่นขอวีซ่าแค่เพียง 3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่ในวันนัดยื่นเอกสาร เราจะได้รับวันและเวลานัดที่จะมารับหนังสือเดินทางคืนเลย ซึ่งก็คือ 2 สัปดาห์หลังจากนั้น และทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไร้กังวล เป็นอะไรที่ไม่เคยได้รับจาก VFS ฮ่าๆๆ เพราะฉะนั้น ถ้าจะลองพิจารณาโปแลนด์เพื่อเป็นตัวเลือกในการขอวีซ่าในทริปครั้งหน้าก็ดีนะคะ : )

Day 1: Discover Berlin

จุดหมายแรกของทริปคือ เบอร์ลิน เมืองที่เต็มไปด้วยร่องรอยของเหตุการณ์ในอดีต ในวันแรกเราเริ่มสำรวจเมืองกันที่ Brandenburg Gate ประตูชัยซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งสันติภาพ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1788 จนเมื่อเยอรมนีถูกแบ่งแยกด้วยกำแพงเบอร์ลิน ประตูชัยนี้จึงอยู่ในฝั่งเยอรมนีตะวันออก เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงในปี ค.ศ. 1989 สถานที่แห่งนี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพไปด้วย ในบริเวณใกล้เคียงนี้เราสามารถเดินชมสถานที่สำคัญของเบอร์ลินได้หลายที่ไม่ว่าจะเป็น

  • อาคารไรชส์ทาค (Reichstag building) เป็นอาคารรัฐสภาที่มีโดมกระจกใสอยู่ด้านบน เมื่อหันหน้าไปทาง Tiergarten อาคารนี้จะอยู่ทางขวามือ ด้านกว้างของตัวอาคารกินพื้นที่กว้างมากกก เราเดินกลับไปกลับมาหลายรอบเพราะหาทางเข้าไม่เจอ สุดท้ายก็พบว่าต้องไปเข้าคิวที่บูทเล็กๆ ใกล้ๆ กับบริเวณอาคารเพื่อลงทะเบียน และแน่นอนคิวยาวมากกกกกก เราก็เลยขอลา แต่ถ้าใครอยากเข้าไปชมเค้าให้เข้าชมฟรีค่ะ แต่แนะนำให้ลงทะเบียนออนไลน์ (ลงได้ล่วงหน้า 2 เดือน) และอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ bundestag.de เค้าค่อนข้างมีระเบียบที่เข้มงวดค่ะ
  • Memorial to the Murdered Jews of Europe เป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงชาวยิวที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อหันหน้าไปทาง Tiergarten อนุสรณ์นี้จะอยู่ทางซ้ายมือ เมื่อเดินมาถึงก็จะเห็นลานแท่งคอนกรีตจำนวนมาก วางตัวบนเนินเป็นแนวตาราง มองจากด้านนอกจะเหมือนกับคลื่นของแท่งคอนกรีต นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมได้จากทุกทิศทางตลอด 24 ชั่วโมง และส่วนที่สองอยู่ชั้นใต้ดิน เป็น Informatiom Center ซึ่งจะจัดแสดงนิทรรศการและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์
  • Checkpoint Charlie & Die Mauer (The Wall) ในช่วงเวลาที่ยังมีกำแพงเบอร์ลินแบ่งเขตแดนระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออก แต่ละจุดสำคัญตามแนวกำแพงจะมีการกำหนดจุดตรวจเพื่ออนุญาตให้ข้ามเขต ซึ่ง Checkpoint Charlie นี้คือจุดตรวจที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเบอร์ลิน ปัจจุบันเหลือเพียงป้อมและมีทหารยืนให้ถ่ายรูปเท่านั้น ถัดมาที่หัวมุมถนนใกล้กันก็จะมีนิทรรศการ Die Mauer ภายในจะจำลองบรรยากาศมุมมองจากฝั่งตะวันตกข้ามกำแพงไปยังฝั่งตะวันออกแบบ Panorama เสียค่าเข้าชม 10 ยูโร ส่วนแนวกำแพงที่ถูกทำลายแล้วจะเหลือไว้แค่สัญลักษณ์บนพื้นเท่านั้น

อาหารมื้อแรกในเบอร์ลินก็ต้องนี่เลย Currywurst ค่ะ : )

Day 2: Dessau

วันนี้เราเดินทางออกจากเบอร์ลินไปยังเมืองเดสเซา (Dessau) เพื่อไปยังสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของวงการออกแบบ นั่นก็คือ Bauhaus (เบาเฮาส์) เรื่องราวของโรงเรียนออกแบบแห่งนี้เป็นเหมือน Side story ของมหากาพย์สงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่การก่อตั้งไปจนถึงแนวคิดในการออกแบบที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด Modernism และ Quote อันโด่งดัง “Less is More” และจากคณะที่เราเรียนจบมา อาคารที่เราเรียนตลอดห้าปีก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาคารของ Bauhaus เราจึงรู้สึกว่าอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตก็อยากไปเหยียบที่นี่สักครั้ง

จากเบอร์ลินใช้เวลาเดินทางโดยรถไฟประมาณ 2 ชั่วโมง ก็จะถึงสถานี Dessau Hbf เดินออกมาจากสถานีนิดเดียวก็จะเจอตัวโรงเรียนเลย เราเดินเข้าไปเรื่อยๆ จนเจออาคารหน้าตาเหมือนในรูปปั๊บก็รีบปรี่เข้าไปทันที

ที่เบาเฮาส์เมืองเดสเซานอกจากจะยังมีการเรียนการสอนจริงอยู่แล้ว เค้าก็ยังมีส่วนที่เป็นนิทรรศการเล่าประวัติความเป็นมาของสถาบันนี้ ปรัชญาการออกแบบและวิธีการสอนที่มีแนวคิดจากเหตุการณ์ในยุคสมัยนั้น มีร้านอาหารและโรงแรมให้ได้ใช้ชีวิตกันแบบ Bauhausler กันเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากไปชื่นชมผลงานสถาปัตยกรรมแบบเบาเฮาส์ ก็สามารถเที่ยวชมอาคารต่างๆ ในเมืองได้อีก!

ปิดท้ายก่อนกลับเบอร์ลินก็ต้องซื้อของที่ระลึก (ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยากเก็บไว้เอง) ที่อยากบอกว่าคนบ้าซื้อเครื่องเขียนเท่ๆ ต้องล้มละลายที่นี่ นอกจากนั้นก็จะมีหนังสือ ของแต่งบ้าน โปสการ์ด และอีกมากมาย ขอให้ระวังสติกันไว้ด้วย ฮ่าๆ

Day 3: Tschüss Berlin

วันสุดท้ายในเบอร์ลินแล้วก็ต้องออกไปชอปปิ้งกันหน่อย เราเลือกไปโซน Wittenbergplatz เพราะที่นั่นมีห้างเก่าแก่ชื่อ KDW (KaDeWe อ่านว่า คาเดเว) ย่อมาจาก Kaufthaus des Westens ที่รู้จักเพราะในหนังสือเรียนภาษาเยอรมันพูดถึงบ่อยมาก ก็เลยต้องมาหน่อย ซึ่งนอกจากห้างนี้แล้ว ตลอดสองข้างถนนก็มีร้านแบรนด์ดังๆ ให้เลือกมากมายและเพลิดเพลินเจริญใจสุดๆ

ตกบ่ายก็หอบหิ้วของพะรุงพะรังไปมิวเซียมสุดท้ายในเบอร์ลิน Jewish Museum Berlin ก่อนเดินทางไปวอซอคืนนี้ สิ่งที่ทำให้เราสนใจอยากมาดูมิวเซียมนี้ก็คือการออกแบบตัวอาคาร การสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับ holocaust ผ่านการออกแบบ space ซึ่งมีสัดส่วนพอๆ กับการสื่อสารด้วยข้อมูลและการจัดแสดง object ต่างๆ และยังมีส่วนที่จัดแสดงงานศิลปะอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับยิวและ holocaust ให้ได้ชมด้วยเช่นกัน

ก่อนจะเดินทางออกจากเบอร์ลิน ก็ขอปิดท้ายด้วยการรีวิวโรงแรมที่เราพักตลอด 3 คืน ก็คือ Hotel Mani เป็นโรงแรมที่มีความดีงามครบถ้วนทั้งเรื่องความสะดวกในการเดินทาง หาอาหารทานได้ง่าย ราคาไม่แพง ห้องดีกะทัดรัด ถ้าเดินทางคนเดียวก็เป็นตัวเลือกที่ดีเลย การตกแต่งก็มีความเท่มากๆ บุฟเฟ่ต์อาหารเช้าก็เลิศ แต่ถ้าใครอยากอัพราคาขึ้นไปอีกและเดินทางสะดวกสุดๆ เค้าก็มีสาขาที่อยู่ติดกับ Berlin Haupbahnhof เลย ชื่อ Hotel Amano Grand Central และมีโรงแรมอื่นๆ ที่อยู่ติดกันด้วย ลองเปรียบเทียบกันดูได้ค่ะ

ไป Warsaw กันต่อค่ะ

One response to “2018S_BWKV: ตามรอยประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรุงเบอร์ลิน”

  1. 7 Places about the Holocaust You Must Visit – Solo Girl Out There Avatar

    […] 2018S_BWKV | Berlin […]

    Like

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Website Built with WordPress.com.