ตอนที่เราเริ่มเขียนเรื่อง 7 Places about Holocaust You Must Visit ซึ่งเป็น 7 สถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนาซีที่เราได้ไปเยือนมาแล้วจริง ๆ แต่ยังเหลืออีกสถานที่สำคัญอีกที่หนึ่งที่อยากเอามาเล่าแบบเข้าใจง่าย ๆ เพราะที่ผ่านมาเราก็ได้ยินชื่อนี้แค่ผ่าน ๆ ไม่ได้ตั้งใจศึกษาอย่างละเอียด และสถานที่นั้นก็คือ กำแพงเบอร์ลิน
การสิ้นสุดคือจุดเริ่มต้น
การสิ้นสุดของสงครามหนึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดอีกสงครามหนึ่ง ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี ค.ศ. 1943-1945 เป็นช่วงที่เบอร์ลินถูกโจมตีทางอากาศ พื้นที่ 3 ใน 4 ของเมืองถูกทำลาย มีผู้เสียชีวิตราว 125,000 คน ถือเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นเบอร์ลินก็ได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพัธมิตรผู้ชนะสงคราม และแบ่งเป็น 4 เขตสำหรับ 4 ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ซึ่งในภายหลังเกิดความขัดแย้งกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับอีก 3 ประเทศสัมพัธมิตร จากการที่โซเวียตปฏิเสธความร่วมมือใน Marshall Plan แผนงานฟื้นฟูยุโรปแบบระบบทุนนิยมของสหรัฐอเมริกา และต้องการดำเนินแผนฟื้นฟู Molotov ซึ่งเป็นระบบคอมมิวนิสต์ของตนเอง ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่าง 2 ขั้วอำนาจนี้ เกิดเป็นสงครามเย็น

ก่อร่างสร้างกำแพง
จากแนวความคิดเรื่องแผนฟื้นฟูยุโรปที่ขัดแย้งกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต แรก ๆ ผู้คนยังคงไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ แต่เมื่อเกิดการอพยพมากขึ้นจากฝั่งตะวันออกสู่ฝั่งตะวันตก เนื่องจากฝั่งตะวันตกมีการฟื้นฟูและพัฒนาความเป็นอยู่อย่างเด่นชัดซึ่งสวนทางกับฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตกจึงเปรียบเสมือนโลกเสรีของฝั่งตะวันออก ในช่วงกลางปี ค.ศ 1948 สหภาพโซเวียตจึงเริ่มตัดเส้นทางการส่งวัตถุดิบต่างๆ จากฝั่งเบอร์ลินตะวันตก แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรก็พยายามช่วยเหลือประชาชนด้วยปฏิบัติการที่เรียกว่า Rosinenbomber (candy bombers) คือการขนส่งอาหารและถ่านให้กับประชาชนฝั่งเบอร์ลินตะวันออกทางอากาศ
จนในปี ค.ศ. 1961 กำแพงเบอร์ลินก็ได้ถูกสร้างขึ้นในที่สุด โดย German Democratic Republic (GDR) เพื่อแบ่งแยกเขตแดนและแนวความคิดของยุโรปตะวันออก (เบอร์ลินฝั่งตะวันออกและกลุ่มประเทศที่ถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียต) ออกจากยุโรปตะวันตก (เบอร์ลินฝั่งตะวันตกซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส) กำแพงเบอร์ลินนี้จึงทอดตัวล้อมรอบเบอร์ลินฝั่งตะวันตกเอาไว้ เพื่อป้องกันการอพยพเข้าสู่ฝั่งตะวันตก นั่นหมายความว่า ผู้คนจากรอบนอกต้องการอพยพเพื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมด้วยกำแพงเบอร์ลินนั่นเอง
ในส่วนของบริเวณกำแพงนั้นมีแนวป้องกันหลายชั้น เริ่มจากแนวกำแพงฝั่งตะวันตก เป็นกำแพงคอนกรีตสูงประมาณ 3.6 เมตร ด้านบนมีการวางท่อขนาดใหญ่เป็นขอบกำแพงเพื่อให้ยากต่อการปีนข้าม ถัดจากกำแพงนี้ไปทางตะวันออกถูกเรียกว่า Death Strip มีความกว้างตั้งแต่ 6 เมตร จนถึงหลายร้อยเมตรตามแต่ละพื้นที่ ในเขต Death Strip นี้จะมีทั้งเนินทรายเพื่อให้สามารถเห็นรอยเท้าของผู้ที่พยายามหลบหนี มีสุนัขและทหารคอยเดินตรวจตรา มีหอสังเกตุการณ์ และอีกหลายวิธีการที่จะคอยตรวจตราและขัดขวางการหลบหนี หากพบเห็นก็จะถูกยิงทันที จุดที่จะสามารถข้ามเขตได้ก็จะถูกกำหนดไว้ตาม Checkpoint ต่างๆ รอบแนวกำแพง รวม 12 จุด

ที่มา: https://archive.nytimes.com/www.nytimes.com/imagepages/2009/11/06/world/08berlinwallgrfxB-ready.html
การสิ้นสุดของกำแพงเบอร์ลิน
กำแพงเบอร์ลินไม่ได้เพียงแบ่งแยกแนวความคิดทางการเมืองออกเป็นสองฝั่งเท่านั้น แต่ทันทีที่กำแพงนี้ตั้งขึ้น ครอบครัว อาชีพการงานต่าง ๆ ของผู้คนก็ถูกตัดขาดในทันที ทำให้การอพยพออกจากเยอรมนีตะวันออกมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนยากจะควบคุม จนในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 กำแพงก็ได้ถูกทำลายลงโดยการประกาศของพรรค GDR ให้ประชาชนมีเสรีในการข้ามเขตได้ และหลังจากนั้นเกือบ 1 ปี ทั้งสองฝั่งจึงได้กลับมารวมเป็นหนึ่งอีกครั้งอย่างเป็นทางการ กำแพงนี้จึงทำหน้าที่ของมันรวมระยะเวลาได้ 28 ปี
กำแพงเบอร์ลินอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่กลับมีต้นเหตุของการมีสิ่งนี้ขึ้นคล้ายๆ กันคือ อคติ กำแพงเบอร์ลินเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกทั้งทางกายภาพและทางความคิด ที่ต้องการแบ่งแยกกลุ่มคนที่มีแนวความคิดไม่ตรงกันออกจากกันอย่างเด็ดขาด (ระหว่างระบบทุนนิยมกับระบบคอมมิวนิสต์) และปลิดชีพผู้ที่ต้องการหลบหนีอย่างไม่มีข้อยกเว้น สำหรับตัวเราเองก็ยังนึกไม่ออกเลยว่า การต้องผ่านทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นในช่วงของการมีชีวิตหนึ่ง มันจะยากลำบากและสิ้นหวังขนาดไหน แต่ทุกอย่างย่อมมีวันสิ้นสุด ไม่มีสิ่งใดมั่นคงถาวรตลอดไป
สำหรับคนที่สนใจเหตุการณ์เกี่ยวกับกำแพงเบอร์ลิน แนะนำให้ไปที่บริเวณ Checkpoint Charlie ซึ่งนอกจากจะมีป้อมและทหารยืนให้ถ่ายรูปแล้ว เดินออกมาอีกหน่อยจะเจอกับนิทรรศการ Die Mauer ภายในจะจำลองบรรยากาศมุมมองจากฝั่งตะวันตกข้ามกำแพงไปยังฝั่งตะวันออกแบบ Panorama เสียค่าเข้าชม 10 ยูโรค่ะ
ที่มา
- https://de.wikipedia.org/wiki/Berliner_Mauer
- https://en.wikipedia.org/wiki/Berlin_Wall
- https://www.die-mauer.de/en
- Leaflet: Die Mauer, Asisi Panorama Berlin
Instagram @sologirloutthere | Facebook @sologirloutthere