ถ่ายรูปให้ปังยังไง เมื่อไปเที่ยวคนเดียว

จริง ๆ แล้วหัวข้อนี้เป็นคำถามที่มีคนถามเราเสมอเวลาที่เค้ารู้ว่าเราชอบเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว พร้อมทำหน้าสงสัยราวกับว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก และมันจะเป็นไปได้ยังไง แต่เราก็ไม่ได้ใส่ใจกับคำถามนี้มากเพราะโดยส่วนตัวแล้วก็ปรับตัวไปตามสถานการณ์ แต่เมื่อเดินทางเองหลาย ๆ ทริปเข้าก็เริ่มหาวิธีอื่น ๆ มาลอง เพื่อให้ได้ภาพที่มาใช้ในบล็อกได้ดีขึ้น และหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีแต่รูปเซลฟี่ รูปเท้า รูปมือ และรูปวิวเปล่า ๆ ซึ่งก็มากพอจะนำมาสรุปเป็นการเตรียมตัวและการเอาตัวรอดในเรื่องนี้ได้ … อะ เริ่มเลยละกัน

1.ทำการบ้านตั้งแต่วางแพลนทริป

มันขนาดนั้นเลยหรอเธอ !?!?… ถ้าจะให้เล่าจริง ๆ ก็ต้องขนาดนี้แหละค่ะ เพราะตั้งแต่กางแพลนว่าเราจะไปที่ไหนบ้างมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเสื้อผ้าหน้าผม รองเท้า หรือส่วนประกอบเล็กน้อยอื่น ๆ อย่างเคสมือถือ ที่อาจจะปรากฏในภาพของเรา พึงระลึกเสมอว่า “เราไปคนเดียว” บางจังหวะเราก็ไม่สามารถฝากกระเป๋า หรือสัมภาระอื่น ๆ ไว้กับใครได้ เราอาจจะมีเวลาแค่แว่บเดียวในการถ่ายรูปกับสิ่ง ๆ นั้นโดยคนแปลกหน้า สิ่งที่จะบอกคือ ควรเน้นความคล่องตัวเป็นหลัก ถ้าจะแบกเป้ จงเป็นเป้ที่เข้ากับชุดในวันนั้น หรือเข้าได้กับทุกชุด จะได้ไม่ต้องเอากระเป๋าไปหลายใบ รองเท้าก็ต้องเตรียมไปตามฟังก์ชั่นที่ต้องใช้เป็นหลัก จากนั้นก็เลือกสีให้เข้ากับชุด อย่าอยากสวย แต่น้ำตาไหลเพราะรองเท้ากัด ถ้าใช้คู่เดียวตลอดทั้งทริปได้ก็ถือว่าโชคดี เสื้อตัวนอกที่ใส่กันหนาวอาจจะต้องมีเผื่อไว้ 2-3 ตัว เพราะถ้ามีตัวเดียวแล้วใส่ซ้ำทุกวัน ก็จะเหมือนได้รูปในวันเดียวกันทั้งทริป ที่สำคัญควรเป็นตัวที่ใส่แล้วดูดี มั่นใจ ไม่ต้องคอยถอดออกเวลาถ่ายรูปเพราะกลัวอ้วนหรือดูไม่สวย เพราะนอกจากจะวุ่นวายแล้ว ก็เสี่ยงว่าเสื้อจะหายด้วย เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องวางแผนอย่างดี เพราะเราไม่สามารถขนบ้านไปด้วยได้ ต้องมีการใช้วน mix & match กับชิ้นอื่น ๆ เพื่อให้เรายังพอมีที่เหลือสำหรับใส่ของเพิ่มขากลับได้ด้วย

Superkilen, Copenhagen – ถ่ายเองแหละ

2.คิดเผื่อ

หากต้องเดินทางไปในจุดหมายที่มีความต่างจากชีวิตประจำวันมาก ๆ เราจะคิดเผื่อเรื่องเสื้อผ้าไว้เสมอ หลัก ๆ ก็จะมีประมาณนี้

  • สภาพอากาศ เราให้ความสำคัญกับคุณภาพของเสื้อผ้ามาก่อน ถ้าไปที่หนาวมาก ๆ อย่างไอซ์แลนด์นี่ยิ่งต้องคิดเผื่อทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่กันน้ำกันชื้นและกันหนาว ท่อนบน ท่อนล่าง ถุงเท้า รองเท้า ถุงมือ ทุกชิ้นต้องยอมลงทุนเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ทรมานจากความหนาวเย็น แล้วมันเกี่ยวยังไงกับการถ่ายรูป? … เกี่ยวสิ! เพราะถ้าแม้แต่ร่างกายเรายังไม่แฮปปี้ แล้วเราจะแฮปปี้กับการถ่ายรูปได้ยังไง จริงมั้ย?
  • กาลเทศะ ข้อนี้หมายถึงเรื่องความเชื่อ ศาสนา บางสถานที่ต้องคลุมตั้งแต่หัวจรดเท้า บางสถานที่ต้องใส่ผ้าซิ่นทับ ไม่ว่าเราจะใส่ขายาวแล้วก็ตาม ซึ่งถ้าเราเตรียมชุดตามความชอบให้ถูกต้องตามกฏด้วยตนเองได้ ก็เยี่ยมเลย แต่ถ้าไม่ได้หรือไม่ได้หาข้อมูลเรื่องการแต่งกายมาก่อน เราก็ต้องยอมถ่ายรูปด้วยชุดที่เค้าบังคับให้ใส่ก่อนเข้าไปในสถานที่นั้นโดยปริยายค่ะ ยกตัวอย่างเช่น การเข้าสุเหร่าของศาสนาอิสลามในอาบูดาบีที่เราเคยไปมา แขนเสื้อต้องยาวถึงข้อมือ ขากางเกงยาวถึงข้อเท้า แล้วมีผ้าคลุมศีรษะ ในวันนั้นเราคิดไว้ว่าจะใส่ดำทั้งชุด ถ่ายรูปเท่ ๆ สุดท้ายต้องโดนจับไปใส่ชุดคลุมสีน้ำตาล (เหมือนชุดคลุมแฮร์รี่ พอตเตอร์อะค่ะ 55) เพราะแขนเสื้อเป็นแขนสามส่วน ยาวไม่ถึงข้อมือ เป็นเซ็ง… ดูรูป
  • สีพื้นหลัง บางทีสีจากภาพถ่ายตามไอจีก็ลวงเรานะ หรือบางคนก็คิดเอาไว้แล้วว่าจะใส่ชุดนี้ถ่ายรูปกับตรงนี้ เวลานี้ เราจึงต้องทำการบ้านข้อนี้ให้ดีโดยการดูรูปมุมเดิมที่เราจะไปซ้ำ ๆ จากหลาย ๆ คน ถ้าเป็นช่วงเวลาเดียวกันได้ยิ่งดี เพื่อที่เราจะได้เตรียมสีชุดได้
Lempuyang Templae, Bali – ถ่ายโดย พี่คนขับรถนำเที่ยว
จริง ๆ แล้วหากเค้าไม่บังคับให้เรานุ่งผ้าซิ่นทับ ภาพก็คงจะดูจืดและขาดเสน่ห์ไปเยอะทีเดียว

3.ซ้อม

ลองซ้อมมุมถ่ายรูปของตัวเอง หามุมที่มั่นใจและจำท่านั้นไว้เป็นท่าหากินไปเลย เพราะบางครั้งเราอาจจะต้องวานให้คนไม่รู้จักช่วยถ่ายให้ เวลาในการลองทำท่านั้นท่านี้จึงมีจำกัด และคงไม่ดีถ้าจะให้เค้าช่วยถ่ายใหม่ให้หลาย ๆ รอบ ดังนั้น ซ้อมท่าที่เทคเดียวปังเอาไว้ให้ขึ้นใจ จะได้ไม่พลาดค่ะ สำหรับเราก็เป็นท่ายิ้มกว้าง หน้าตรง ตาหยีแต่ต้องไม่หยีเกิน และต้องไม่ลืมทำหลังตรง ประมาณนี้ค่ะ : D

Jellyfish Lake, Palau – ถ่ายโดย Dive Master

4.อุปกรณ์

มีชุด มีท่าพร้อมแล้ว อุปกรณ์การถ่ายภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งแต่ละคนก็มีสไตล์การถ่ายภาพและงบประมาณแตกต่างกันไป ในข้อนี้จึงเป็นความถนัดส่วนตัวของเราที่จะแชร์ การเดินทางช่วงแรก ๆ ที่สมาร์ทโฟนยังถ่ายภาพได้ไม่ดีเท่าไหร่ เราก็จะเอากล้อง DSLR ไปด้วยอีกตัว เผื่อถ่ายมุมกว้าง ปรับแสง ปรับความชัดอะไรได้ แต่พอมาถึงตอนนี้กล้องสมาร์ทโฟนแทบจะทำได้ทุกอย่าง เราจึงไม่ได้แตะกล้องใหญ่อีกเลย ดังนั้นภาพถ่ายส่วนใหญ่ที่ได้มาก็จากไอโฟนเกือบหมด ยกเว้นพวกภาพใต้น้ำ ที่เราจะมีกล้องคอมแพคอีกตัวพร้อมกับ Housing ซึ่งกล้องนี้เราก็เลือกรุ่นที่สามารถพลิกหน้าจอมาถ่ายเซลฟี่ได้ และกล้องตัวนี้ก็เป็นกล้องสำรองเวลาที่เราถ่ายจนแบตมือถือใกล้หมด บางคนอาจไม่รู้ว่าแบตมือถือจะลดลงเร็วมากถ้าอยู่ในสภาพอากาศเย็นจัด เราจึงใช้กล้องตัวนี้เป็นกล้องสำรองอีกตัว อุปกรณ์อื่น ๆ นอกจากนี้ก็จะมีพาวเวอร์แบงค์ และขาตั้งกล้องที่มีรีโมต ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แบกไปไหน จะเอาไว้ถ่ายตัวเองในห้องพักโรงแรมมากกว่า เพราะบางทีอยากได้รูปตัวเองในห้องสวย ๆ แบบมุมกว้างแต่ไม่มีที่วางมือถือ เอาขาตั้งกล้องไปด้วยก็หมดปัญหาค่ะ : )

Four Seasons Bali at Sayan – ถ่ายโดย ขาตั้งกล้อง
S6 by Platinum Residence, Warsaw – ถ่ายโดย ขาตั้งกล้อง

5.มโนก่อน

เมื่อถึงที่หมายที่เราจะถ่ายรูปแล้ว อย่าเพิ่งกระโจนเข้าไปถ่ายทันทีค่ะ แนะนำว่าให้เล็งก่อน ว่าเราจะยืน เดิน นั่ง นอน ยังไง ตรงไหน จากนั้นก็ให้ลองถ่ายคนอื่นในมุมที่เราต้องการดูก่อน ว่าเวิร์คมั้ย เมื่อได้มุมที่ต้องการแล้ว ก็ทำตามข้อถัดไปค่ะ

6.เมคเฟรนด์

ยิ้มสยามได้ผลเสมอ แต่ก่อนที่จะยิ้มให้ใคร เราต้องสังเกตคน ๆ นั้นให้ดีก่อน เพราะนอกจากไกด์กับคนขับรถนำเที่ยวแล้ว ที่เหลือคือการเสี่ยงดวงว่าเราจะเจอคนถ่ายรูปเป็นหรือคนถ่ายรูปไม่เป็น ทฤษฎีที่ว่าให้เลือกคนที่ห้อยกล้องใหญ่ที่คอก็ไม่ได้การันตีว่าเค้าจะถ่ายรูปให้เราดีเสมอไป และสวยของเรากับสวยแบบของเค้าก็อาจจะต่างกัน ดังนั้น การลองถ่ายคนอื่นดูก่อนในข้อ 5 ก็จะนำมาใช้ตอนนี้แหละ ส่วนใหญ่เราจะเลือกขอความช่วยเหลือจากคนที่ดูไม่รีบร้อน ใจดี และน่าจะมีทักษะในการถ่ายรูป และยื่นรูปในข้อ 5 ให้เค้าดูว่าเราอยากได้ประมาณนี้ หลังจากได้รูปแล้ว เราก็อาจจะแสดงน้ำใจเสนอตัวถ่ายรูปให้เค้าด้วยก็ดีหากมีโอกาสค่ะ

ในบางทริปที่เราเดินทางคนเดียวก็จะมีเพื่อนร่วมทางจำเป็นบ้างในบางวันที่เราไปจอยทริปแบบ Day Tour ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้หญิงจากประเทศแถบเอเชียที่เดินทางคนเดียวเหมือนกัน ถ้าเราผูกมิตรกันได้ก็เยี่ยมเลย นี่ก็เป็นอีกทริคนึงที่ไม่ต้องไปเสี่ยงดวงทุกครั้งเอาหน้างาน และมีความยืดหยุ่นมากกว่าในการที่จะขอให้ถ่ายใหม่หรือลองมุมนั้นมุมนี้ได้นิดหน่อยค่ะ

Seljalandsfoss, Iceland – ถ่ายโดย เพื่อนร่วมทางสาวชาวเอเชีย
Black Sand Beach, Iceland – Snapped by เพื่อนร่วมทางสาวชาวเอเชีย
Diamond Beach, Iceland – ถ่ายโดย คุณผู้ชายที่กำลังถ่ายรูปด้วยกล้องใหญ่ให้แฟนของเค้าอยู่

7.ใช้สิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์

แล้วถ้าตรงนั้นไม่มีใคร แต่ไม่อยากได้รูปเซลฟี่ จะทำไง? ก็ต้องลองมองหาตัวช่วยอื่น ๆ เช่น ผนัง กระบอกน้ำที่มีน้ำ หรือกระเป๋าของเราเองที่สามารถใช้พิงโทรศัพท์ได้ จัดวางในมุมกล้องที่ต้องการ จากนั้นก็ปรับเป็นกล้องหน้าและตั้งเวลาถ่าย หรือถ้าที่ไหนมีกระจกเงา วางในมุมที่ถ่ายแล้วสวยพอดี ก็เยี่ยมเลย

ร้านอาหาร, Iceland – ถ่ายโดย พิงมือถือกับแก้วน้ำ และตั้งเวลาถ่าย
S6 by Platinum Residence, Warsaw – ถ่ายโดย ใช้กระจก
Galaxy Pod Hostel, Reykjavik – ถ่ายโดย ใช้กระจก
IKEA Hotel, Sweden – ถ่ายโดย ใช้กระจก
Bangkok – ถ่ายโดย ใช้มือถือถ่ายเซลฟี่

8.เก่งแอป

เราเชื่อว่าข้อนี้ทุกคนมีแอปที่ตัวเองถนัดอยู่แล้วแน่นอน ซึ่งแอปที่เราใช้ก็จะเน้นที่การปรับแสง สี และ Perspective ของภาพ ซึ่งเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของการถ่ายภาพ ที่บางทีแสงไม่พอหรือไม่ก็จ้าเกิน บางทีรีบจนไม่ได้ดูว่าระนาบของหน้ากล้องมันเอียง เป็นต้น ดังนั้น ถ้าหากเรามีความรู้ความชำนาญที่จะประเมินได้ว่าภาพนี้สามารถแก้ไขจุดบกพร่องด้วยแอปได้ เราก็จะไม่ต้องเสียเวลาถ่ายใหม่หลายครั้งจนเกินความจำเป็นนั่นเองค่ะ

ถ้าดูจากภาพที่เราถ่ายก็เหมือนจะไม่ได้มีพรอพหรืออุปกรณ์อลังการอะไรในการใช้ถ่ายรูป นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ในการออกเดินทางคนเดียวของเราก็เพื่อออกไปดูโลก ไปเห็นของจริงด้วยตา ได้กลิ่นด้วยจมูก ฟังเสียงรอบข้างด้วยหู ลิ้มรสด้วยลิ้น และสัมผัสอากาศด้วยผิวหนังของเรา การถ่ายรูปจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับสองแต่ก็ตั้งใจมาก ๆ ไม่แพ้กัน เราจึงให้เวลาในการคิดถึงรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถออกไปดูโลกได้อย่างเต็มที่และมีรูปสวย ๆ กลับมาด้วยนั่นเองค่ะ : )


Instagram @sologirloutthere | Facebook @sologirloutthere