How to เก็บเงินเที่ยวแบบมนุษย์เงินเดือน

Published by

on

หลายคนมีสถานที่ในฝันที่อยากไปสักครั้งในชีวิต แต่ก็ติดที่ว่าเก็บเงินไม่ถึงเป้าซักที แถมระหว่างทางก็ยังมีนู่นนี่นั่นให้ต้องจ่าย ทำให้ความฝันมันมาไม่ถึงเราซักที เราก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น เราคือมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่ฝันอยากไปท่องเที่ยวที่ ๆ อยากไปได้ตามใจตั้งแต่เริ่มทำงานแรก ๆ แต่กว่าจะสะสมได้ถึงเป้าก็ยากเย็น เพราะฉะนั้นวิธีการค่อย ๆ เก็บแบงค์ 50 หรือแยกบัญชีจึงไม่ได้ผลสำหรับเรา เราจึงค่อย ๆ ลองผิดลองถูก หาทางบริหารเงินเที่ยวในแบบของตัวเอง จากทริปเล็ก ๆ ต่างจังหวัดปีละครั้ง จนสามารถเที่ยวต่างประเทศได้ในปีล่าสุด 2019 คือ 4 ทริป! จนมีคนถามว่า “พี่เอาเงินที่ไหนเที่ยว?” ฮ่าๆๆ บทความนี้จึงอยากจะแชร์เคล็ดลับการบริหารทั้งเวลาและเงินให้สามารถ #เที่ยวเก่ง ได้แบบมนุษย์เงินเดือนนี่แหละ : )

เวลา

สิ่งแรกที่เป็นจุดสำคัญซึ่งมีผลอย่างมากต่อจำนวนเงินที่ใช้ในแต่ละทริปคือ เวลา หลายคนสงสัยว่ามันสำคัญขนาดนั้นเลยหรอ ขอตอบเลยว่าสำคัญสุด ๆ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เวลาแรกคือ วันลาพักร้อน เป็นอะไรที่มนุษย์เงินเดือนมักจะชอบเก็บสะสมไว้ใช้ช่วงใกล้สิ้นปีบ้าง ช่วงเทศกาลบ้าง แต่พอถึงเวลากลับลาไม่ได้เพราะงานเข้าหรือไม่ก็เพื่อนร่วมงานชิงลาไปก่อน ซึ่งเราแนะนำว่าวันลาพักร้อนนั้นเป็นสิ่งที่ควรถูกบริหารเป็นอันดับแรกตั้งแต่เริ่มปีใหม่ เพราะมนุษย์เงินเดือนจะมีจำนวนวันลาพักร้อนที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าได้กี่วันต่อปี ควรบริหารการใช้วันลาไว้ประมาณ 80% ของโควต้าที่มี อย่าเขียม! เพราะถึงเราจะสะสมวันลาเอาไว้เยอะ ๆ ก็เอามาแลกเป็นเงินไม่ได้ เพราะฉะนั้นจงใช้ซะ! เช่น ถ้ามีวันลา 10 วัน/ปี ควรวางแผนว่าจะใช้วันลา 8 วันภายในรอบปีนั้น ๆ อีก 2 วันเผื่อไว้กรณีฉุกเฉิน ส่วน 8 วันนี้ ให้เรามองดูคร่าว ๆ ว่าปีนี้เราอยากไปกี่ทริป ทริปละกี่วัน และให้นำมาพิจารณาควบคู่กับเวลาที่สอง

เวลาที่สองคือ วันหยุดยาว เวลาที่สองนี้ควรเลี่ยงด้วยหลายสาเหตุหลายประการ เช่น ค่าใช้จ่ายจะแพงกว่าวันธรรมดา คนเยอะแย่งกันเที่ยว แต่ถ้าจะต้องเดินทางช่วงเวลานั้นพอดี ให้เลือกวันเดินทางเหลื่อม ๆ กับวันหยุดยาว ก่อนหรือหลัง 1-2 วัน จะดีกว่า ทีนี้วันลาที่เราแบ่งไว้ก็จะมีประโยชน์ตรงนี้แหละค่ะ ทำให้เรามีความยืดหยุ่นในการเลือกวันเดินทาง และมันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและความวุ่นวายใด ๆ ได้มากทีเดียว เช่น ราคาตั๋วช่วงค่ำวันศุกร์มักจะแพง เราก็สามารถขยับมาเดินทางวันพฤหัสฯ หรือวันพุธแทนได้ เป็นต้น

เวลาที่สามคือ ฤดูท่องเที่ยว ของสถานที่นั้น ข้อนี้จะมีวิธีคิดที่คล้ายข้อสอง ถ้ามีความจำเป็นต้องไปให้ตรงตามฤดูท่องเที่ยว เช่น ช่วงซากรุะบาน หรือดำน้ำก็ตาม แนะนำว่าควรไปช่วงต้นฤดูไปเลย หรือถ้าเป็นฝั่งยุโรป เราจะไปเที่ยวช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็น Low season ของฝั่งเค้าพอดี แต่เราชอบช่วงนั้นมาก เพราะชอบบรรยากาศคริสต์มาส ถ้าเดินทางช่วงนั้นค่าตั๋วและที่พักก็จะถูกลงมากเลยค่ะ

โดยสรุปในเรื่องของเวลา เราจะปักหมุดช่วงเวลาโดยพิจารณาจากฤดูท่องเที่ยวไว้ก่อน ว่าอยากไปดูอะไร ต้องไปเดือนไหน และไม่หวงวันลาพักร้อน ถ้าได้ตั๋วที่ถูกกว่าก็ลาเลย ส่วนวันหยุดยาวคือผลพลอยได้ค่ะ

เงิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือปัจจัยสำคัญของการบริหารทริปมากที่สุด ข้อหนึ่งที่ได้เปรียบของมนุษย์เงินเดือนก็คือ เรามีรายได้ที่แน่นอนทุกเดือน ทำให้เราสามารถวางแผนการใช้เงินได้ ทีนี้ถ้าอยากจะเที่ยวแพงหรือถูก ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารแล้วล่ะ ขอเน้นว่า “การบริหาร” นะคะ ไม่ใช่การอดมื้อกินมื้อนะ เพราะมันจะทำให้เราทรมาน และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการท่องเที่ยว การบริหารเงินที่ว่านี้ต้องบริหารทั้งรายรับและรายจ่าย 

รายรับ ไม่ว่าจะกี่ทางก็แล้วแต่ควรแบ่งไปลงทุนตามที่ต่าง ๆ ตามกำลัง ซึ่งท้ายที่สุดนอกจากจะได้ผลตอบแทนในระยะยาวแล้ว ก็ยังนำมาลดหย่อนภาษีได้ในตอนต้นปี ถ้าบริหารดี ๆ ได้เงินคืนเป็นหลักหมื่น (ขึ้นอยู่กับรายได้ต่อปี) เลยนะ  

ส่วน รายจ่าย เราขอเน้นที่ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวละกัน วิธีของเราเริ่มมาจากการวางแผนเรื่องเวลามาก่อน จากข้อแรก เรารู้แล้วว่าเราจะเที่ยวเดือนไหน เราก็จะเริ่มมองหาตั๋วช่วง 3 – 12 เดือนก่อนวันเที่ยว ทั้งตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ค่าวีซ่า ค่าเสื้อผ้า และอื่น ๆ ที่สามารถจองล่วงหน้าได้ เราใช้วิธีตัดบัตรเครดิตทั้งหมด วิธีนี้ต้องมีสติในการบริหารบัตรเครดิตในมือให้เป็น โดยต้องเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในแต่ละรอบบิลให้อยู่ในวงเงินที่เราจ่ายเต็มได้ในแต่ละเดือน ขอย้ำว่า ต้องจ่ายเต็มนะ! ห้ามจ่ายขั้นต่ำเด็ดขาด ข้อนี้ต้องมีวินัยมาก ๆ เพราะไม่งั้นจะทำให้เป็นหนี้หัวโตไปเรื่อย ๆ บางบัตรสามารถผ่อนจ่ายได้ 0% 3 เดือน (ซึ่งเราใช้อยู่ แต่ขอไม่เอ่ย เพราะไม่ได้สปอนเซอร์ อิอิ)

นอกจากนี้ บางที่พักก็ให้จ่ายวันที่เข้าพัก และระหว่างเดินทางก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอีก เพราะฉะนั้นเราจะมีระยะเวลาในการผ่อนจ่ายอย่างน้อยราว ๆ 6 เดือนสำหรับ 1 ทริป (ก่อนทริป 3 + หลังกลับจากทริป 3) ลองคูณตัวเลขคร่าว ๆ ก็ได้ว่าถ้าเอา จำนวนเงินที่ผ่อนเต็มได้ต่อเดือน x 6 เท่ากับเท่าไหร่ นี่คือเงินที่คุณสามารถใช้ท่องเที่ยวได้ในหนึ่งทริป ถ้าวางแผนล่วงหน้านาน ก็จะมีระยะเวลาในการผ่อนจ่ายหรือมีงบมากขึ้นได้ แต่เราก็ไม่ควรเสี่ยงเกินไป เพราะบางเดือนก็อาจจะต้องจ่ายมากน้อยไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นควรจะมีเงินสำรองไว้อีกจำนวนหนึ่งเพื่อใช้หมุนสำรองจ่าย เมื่อกลับสู่ภาวะปกติก็ต้องเติมให้เท่าเดิมหรือมากขึ้นค่ะ

ขยัน (อันนี้แถม)

ข้อนี้อยากจะบอกว่าไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย หากคุณคิดจะเที่ยวเก่งแล้วละก็

  • คุณต้องขยันทำงาน และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ได้โบนัสที่ดี เงินเดือนที่มากขึ้น วันลาพักร้อนที่เพิ่มขึ้น และจัดการงานให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางเพื่อไม่ให้เป็นภาระของเพื่อนร่วมงาน
  • คุณต้องขยันหาข้อมูลและเปรียบเทียบคุณภาพกับราคาที่เหมาะสมอยู่เสมอ เพื่อให้ได้สิ่งที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปมากที่สุด
  • คุณต้องขยันสร้างมิตร เพราะเวลาที่คุณลาพักร้อน ย่อมต้องมีคนทำงานแทนคุณ / อนุมัติวันลาให้คุณ / (อาจจะ) สั่งงานตอนคุณไปเที่ยว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคก็ต่อเมื่อพวกเค้ารู้สึกว่าการไปเที่ยวของคุณคือภาระและเกิดความยากลำบากในการทำงาน ทางแก้ก็คือ ก่อนจะไปก็ต้องเกริ่นล่วงหน้าเป็นระยะ ๆ ไม่ใช่บินคืนนี้แล้วเพิ่งบอกตอนเย็น ส่วนตอนกลับมาก็ต้องมีของฝากเป็นน้ำใจให้คนที่เราฝากงานไว้ด้วยนะคะ : )

สำหรับเราแล้ว การท่องเที่ยวคือ Safe zone ที่เราสามารถหลบความวุ่นวายซับซ้อนในชีวิตประจำวันไปอยู่กับตัวเอง ได้มอบความสุขคืนให้กับร่างกายและจิตใจ มอบอากาศที่ดี อาหารที่ดี เข้าสู่ร่างกาย มอบมุมมองใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากมุมเดิม ๆ ที่เคยเห็นทุกเมื่อเชื่อวัน เปิดประตูอีกบานให้กับความคิดของเรา ได้ใช้ชีวิตและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เข้าใจว่าช่วงนี้ยังไปไหนไม่ได้ ก็มาเริ่มจัดระเบียบและบริหารสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นไปก่อน เมื่อ Covid-19 หมดไปแล้ว อยากให้ทุกคนได้ออกไปโอบกอดโลกใบนี้อีกครั้งอย่างพอดีและมีสำนึกรักโลกใบนี้มากขึ้น รู้ว่าโหยหา (ฮ่าๆๆ) แต่เราจะต้องไม่กิน ไม่ใช้เกินความพอดี ออกไปเที่ยวด้วยความรู้สึกขอบคุณธรรมชาติ แล้วธรรมชาติจะมอบพลังงานที่ดีกลับมาให้เราได้ใช้ชีวิตและทำงานต่อไปนะคะ : )


Instagram @sologirloutthere | Facebook @sologirloutthere

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Website Built with WordPress.com.